ภาวนามยปัญญา

ณ ธรรมสถานสวนธรรมฯ มีการเรียนรู้หลักการและวิธีการปฏิบัติภาวนา ตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ดังนี้

2 ภาวนา_หลักธรรมที่พระพุทธองค์แสดงไว้

การฝึกสติด้วยอานาปานสติ เพื่อทำให้สติปัฎฐาน ๔ บริบูรณ์

การฝึกสติ คือการพิจารณา เห็น ถึงการเคลื่อนไหวของกายใจ การฝึกสติด้วยอานาปานสตินั้น มีคุณคือทำให้จิตเป็นสุขสงบประณีต

     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า การฝึกอานาปานสติ ทำให้สติปัฎฐาน ๔ บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักธรรมทำให้โพชฌงค์ ๗ เจริญ และหลักธรรมทั้งสองนี้ จัดอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ คือ ธรรมที่เป็นฝ่ายที่เกื้อกูลให้ถึงการตรัสรู้

อารมณ์ของสติปัฏฐาน
มี ๔ ฐานคือ

กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน

คือการมีสติที่ตั้งมั่นพิจารณากายเนืองๆ ในอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืนเดินนั่งนอน

เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน

คือการมีสติที่ตั้งมั่นพิจารณาเวทนา ว่าเกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา กับสิ่งใด 

จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน

มีการมีสติที่ตั้งมั่นพิจารณาจิตเนืองๆ ว่าจิตมีโลภะ โทสะ โมหะ กับสิ่งใด จิตมีสมาธิหรือไม่ จิตตั้งมั่นหรือไม่

ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน

เมื่อการมีสติที่ตั้งมั่นพิจารณาธรรม เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ลม ที่กาย ที่ใจ ว่าล้วนมีความเปลี่ยนแปลง โดยใช้พระไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ หรือบังคับไม่ได้ ข้อใดข้อหนึ่งมาเป็นอารมณ์ของการพิจารณาในเบื้องต้น

ฝึกสัมปชัญญะ ให้รู้ความรู้สึกอยู่ที่ใจ

       เมื่อเรามี “ความตั้งมั่น” อยู่ที่บริเวณใจ (ใจ อยู่ที่หน้าอกทางซ้าย) นั่นคือเรามีสัมปชัญญะ 

       เมื่อกายเคลื่อนไหว มีการกระทำ หรือความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้น เราจะตั้งมั่นอยู่บริเวณใจ ไม่เข้าไปรวมตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางกายนั้น

       เมื่อมีความเคลื่อนไหวภายในใจ เราจะตั้งมั่นอยู่บริเวณใจ เห็นความรู้สึก รู้อารมณ์ต่างๆในใจ โดยที่เราไม่เข้าไปรวมตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางใจนั้น

ฝึกการเจริญปัญญา ผ่านพระไตรลักษณ์

ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ให้มีสติสัมปชัญญะพิจารณาตั้งมั่นอยู่ในรูปนามกายใจ 

เห็นว่ารูปนามกายใจ มีความเปลี่ยนแปลง 

พิจารณาสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง ว่าไปเป็นตามกฎธรรมชาติคือพระไตรลักษณ์ 

ทำให้เกิดปัญญา เห็นตามความเป็นจริงแห่งอริยสัจ ๔ เข้าถึงโสดาปฏิผล จะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน

ประมวนคำศัพท์